เวลาผ่านมาแล้วประมาณ 1 เดือน สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว น่าจะมีหลาย ๆ คนที่ซ่อมก่อน ไม่รอแล้ว และผู้เขียนเป็นหนึ่งในคนที่ซ่อมก่อน ไม่รอเคลมประกันใน จึงขอรวบรวมข้อมูลที่ควรรู้ เกี่ยวกับการซ่อมห้องไว้ในโพสนี้
- มีประกันอัคคีภัยส่วนตัวด้วย สามารถเคลมจากทั้งของส่วนตัว และของส่วนกลางได้หรือไม่
ไม่ได้ โดยปกติแล้ว หากเราทำกรมธรรม์ 2 ฉบับ ที่คุ้มครองแบบเดียวกัน จะใช้หลักการแชร์ความรับผิดชอบ ดังนั้นเมื่อเราเคลมประกันส่วนตัวของเราแล้ว ประกันของเรา จะไปติดต่อกับประกันของนิติบุคคลหลังบ้านกันเอง เพื่อหารเฉลี่ยความรับผิดชอบที่ต้องจ่ายให้กับเรา และหากห้องเกิดความเสียหายสูงกว่าวงเงินประกันที่เราทำไว้ จึงจะสามารถเคลมส่วนต่างเพิ่มเติมได้

2. ผนังก่อที่ใช้ร่วมกันกับห้องข้าง ๆ ควรติดต่อเพื่อนบ้านหรือไม่
ในขั้นตอนการซ่อม จะมีการเปิดแผลให้ใหญ่ขึ้น โดยการสกัดปูนออก ทำให้เกิดแรงกระแทกอยู่ระดับหนึ่ง ถ้าห้อง A ซ่อมก่อน แล้วห้อง B มาซ่อมในภายหลัง มีโอกาสที่ห้อง A จะกลับมาร้าวอีกครั้ง จากการสะเทือนของผนังฝั่ง B ดังนั้นควรดำเนินการซ่อมห้องพร้อมกัน
3. ขั้นตอนในการซ่อมผนังก่อ ผู้เขียนซ่อมแนวทางไหน มีอะไรบ้าง
ขั้นตอนที่ 1. เปิดแผลให้ใหญ่ขึ้นเป็นร่องตัว V

ขั้นตอนที่ 2. บางเจ้าอาจจะเสริมความแข็งแรง ด้วยการเสริมเหล็ก เย็บผนัง (แต่ขั้นตอนนี้ส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้ทำครับ)
ขั้นตอนที่ 3.ใช้วัสดุอุดรู เช่น อะคริลิคโป๊ว , ซิลิโคน , PU Foam และปูนซ่อมแซม (มีข้อมูลเพิ่มเติมในข้อถัดไป)
ขั้นตอนที่ 4. สกิมโค้ท เพื่อให้ผนังดูเรียบเนียน

ขั้นตอนที่ 5. ทาสีรองพื้นแบบยืดหยุ่น เผื่ออนาคตเกิดรอยร้าวเพิ่มเติม สีรองพื้นตัวนี้จะช่วยปกปิดรอยร้าวได้ระดับหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 6. ทาสี หรือติดวอลเปเปอร์

4. เลือกวัสดุอะไรในการอุดรูร้าวที่เกิดขึ้นดี
ถ้าเป็นบ้านแนวราบ โดยปกติเราจะเลือกใช้วัสดุที่มีการยืดยุ่น เนื่องจากสาเหตุที่ผนังก่อแนวราบมีการร้าว เกิดขึ้นจากการขยับตัวของโครงสร้าง ดังนั้นหากเราใช้วัสดุที่แข็ง เช่น ปูน ไปอุดรูดังกล่าว แล้วโครงสร้างมีการขยับตัวอีก ก็จะไปร้าวจุดอื่นแทน
แต่สำหรับคอนโด การเจาะเสาเข็มจะลึกกว่าแนวราบ ทำให้โครงสร้างโดยรวมหากไม่เกิดแผ่นดินไหว จะนิ่งกว่า ผู้เขียนจึงเลือกใช้ปูนซ่อมแซมโครงสร้างในการซ่อม เนื่องจากข้างห้องแจ้งว่ารอเคลมประกัน จึงอยากใช้วัสดุที่แข็งแรงมาก ๆ เพื่อป้องกันการกลับมาร้าวที่จุดเดิมอีกตอนที่เพื่อนข้างห้องเริ่มซ่อมห้องครับ
แต่ในขณะเดียวกันการเลือกใช้ปูนซีเมนต์ซ่อมแซมโครงสร้างดังกล่าว หากเลือกใช้ในจุดที่มีปัญหาเรื่องร้าวมาก่อนแผ่นดินไหว เช่น ในกรณีของผู้เขียน ตรงบริเวณรอยต่อแผ่น Pre-cast มีรอยร้าวตั้งแต่ตรวจรับห้อง มีการแก้ไขแล้ว และยังเป็นอีก ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ซ่อมแล้วจะกลับมาร้าวใหม่ในไม่นาน
5. ช่วยลิสต์รายการวัสดุต่าง ๆ ผู้เขียนที่เลือกใช้ได้หรือไม่
- จระเข้ รีแพร์ มอร์ต้า ปูนสําเร็จรูปสําหรับซ่อมแซมโครงสร้าง
- น้ำยาประสานปูน ใช้เพื่อให้ปูนใหม่กับปูนเก่า ประสานเป็นเนื้อเดียวกัน
- ปูนฉาบผิวบางสกิมโค้ท (ยี่ห้ออะไรก็ได้)
- สีรองพื้นยืดหยุ่น Nippon Paint FLEXISEAL
- สีทาผนัง ยี่ห้อเดิม โค้ดสีเดิม


6. สี จะหารหัสสีเดิมได้จากไหน
สอบถามนิติบุคคลอาคารชุด โดยปกติเมื่อ Developer ส่งมอบงานให้กับนิติแล้ว จะมีส่งข้อมูล material ต่าง ๆ ด้วย โดยการเลือก จะต้องเลือกยี่ห้อเดิมเท่านั้น เพราะหากต่างยี่ห้อกัน แม้ว่าจะเป็นรหัสสีเดียวกัน แต่อาจจะเพี้ยนได้
และสำหรับโครงการเก่าที่ใช้งานมาแล้วสักพัก อาจจะไม่ต้องซีเรียสสีเดิมมากนัก แนะนำให้ทาใหม่ทั้งห้องเลยครับ แม้ว่าจะหาสีตรงรุ่นเดิมได้ แต่สีเก่าเมื่อใช้ไปนาน ๆ อาจจะจางกว่าเดิม ทำให้โซนที่ทาใหม่มีความแตกต่างจากของเดิม
7. รอยร้าวบริเวณระเบียง ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการซ่อม
ภายในระเบียง ที่เป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ตามโฉนด หรือพื้นที่ส่วนไหนก็ตาม ที่ไม่ใช่พื้นที่ภายนอกอาคาร ยังอยู่ภายใต้ชายคา เป็นหน้าที่ของลูกบ้านในการซ่อม
สำหรับโครงการเก่า ที่มีแผนจะทาสีทั้งโครงการใหม่เร็ว ๆ นี้ อาจจะไม่ต้องดำเนินการซ่อมด้วยตัวเองก็ได้ เพราะโครงการเก่าส่วนใหญ่ เวลานิติบุคคลจัดหาบริษัทมาทาสีใหม่ทั้งโครงการ มักจะรวมบริการทาสีบริเวณระเบียงของลูกบ้านให้ด้วย

จากการสอบถามนิติ รอยดังกล่าว ถือว่าเป็นส่วนของลูกบ้าน
8. ห้องน้ำสำเร็จรูป ปลอดภัยจริงหรือไม่ ทำไมทุกโครงการที่ใช้ห้องน้ำสำเร็จ ถึงไม่เห็นรอยร้าวเลย
ห้องน้ำสำเร็จรูป มีลักษณะเป็นกล่องสำเร็จมาวาง วัสดุใช้เป็นผนังเบา และโครงเหล็ก ดังนั้นเมื่อติดตั้งเข้าไป จะเป็นเสมือนเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน ซึ่งจะมีผนังก่ออยู่ด้านหลังห้องน้ำสำเร็จอีกที ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าผนังจริง ๆ ที่อยู่ด้านหลังห้องน้ำสำเร็จ อาจจะมีรอยร้าวเกิดขึ้นก็เป็นได้
ครบกันไปแล้วกับ 8 ข้อควรรู้ ถ้าเพื่อน ๆ มีทริคดี ๆ เอามาแบ่งปันกันเพิ่มเติม สามารถแชร์แลกเปลี่ยนได้ที่ Comment ในเพจ หรือหลังไมค์มาคุยกันได้นะครับ